สรุปสถานการณ์ศัตรูข้าว ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565
  •   2022-03-03 09:54:25    126     3

สรุปสถานการณ์ศัตรูข้าว ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565

สรุปรายงานสถานการณ์ศัตรูข้าว กรมการข้าว ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565
(รายงาน ณ วันที่  3 กุมภาพันธ์ 2565)


สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2565) พบพื้นที่ระบาด จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ นครนายก และพัทลุง พื้นที่ระบาดจำนวน 1,700ไร่ การระบาดเพิ่มขึ้น 1,541 ไร่

สถานการณ์การระบาดของโรคไหม้ข้าว รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร พบพื้นที่ระบาด จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พื้นที่ระบาดจำนวน 3 ไร่ การระบาดเพิ่มขึ้น 3 ไร่

สถานการณ์การระบาดของศัตรูข้าวชนิดอื่น รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2565) พบพื้นที่ระบาดจากการเข้าทำลายของศัตรูข้าว ดังนี้
- การระบาดของเพลี้ยไฟ จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พื้นที่ระบาดจำนวน 5 ไร่ การระบาดเพิ่มขึ้น 5 ไร่
- การระบาดของหนอนห่อใบข้าว จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พื้นที่ระบาดจำนวน 10 ไร่ การระบาดลดลง 5 ไร่
- การระบาดของแมลงบั่ว พบพื้นที่ระบาด 2 จังหวัด คือ พิจิตร และฉะเชิงเทรา พื้นที่ระบาดจำนวน 303 ไร่ การระบาดลดลง 22 ไร่

ข้อมูลเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จากผลการตรวจนับจำนวนตัวเต็มวัยในกับดักแสงไฟของศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ (ติดตั้งกับดักแสงไฟที่สถานีศูนย์วิจัยข้าว และสถานีดงหลักหมื่น) ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ พบจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในกับดักแสงไฟไม่ถึงระดับวิกฤต (ระดับวิกฤต คือ 50,000 ตัวต่อคืน)

ข้อมูลโรคไหม้ ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565 รายงานค่าความเสี่ยงของอากาศในการเกิดโรคไหม้จากสถานีเครือข่ายที่มีค่าความเสี่ยงเกินระดับวิกฤต (ค่าวิกฤต คือ 2.25) คือ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ส่วนศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ มีค่าความเสี่ยงของอากาศในการเกิดโรคไหม้ไม่เกินระดับวิกฤต

การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในสัปดาห์ ในช่วงวันที่ 2 - 3 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางแห่ง โดยภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเป็นบางพื้นที่ ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และในช่วงวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกยังคงปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า


การคาดการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในสัปดาห์หน้า จากผลการตรวจนับจำนวนตัวเต็มวัยในกับดักแสงไฟ ภายใน 2-3 สัปดาห์ ยังไม่พบจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เกินระดับวิกฤติ ดังนั้น แนวโน้มในการระบาดอาจพบน้อยหรืออาจพบเป็นบางพื้นที่ที่เคยมีการระบาดเป็นประจำ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์ข้าว พฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวของเกษตรกร การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น โดยเฉพาะในแปลงที่มีการปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์พื้นเมือง เป็นต้น แปลงที่ปลูกข้าวแน่น และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูงกว่าคำแนะนำ
ส่วนจังหวัดที่มีการรายงานพื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในสัปดาห์นี้ ได้แก่ นครนายก และพัทลุง ควรมีการเฝ้าติดตามการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง และสำรวจในพื้นที่ที่ปลูกข้าวอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีปริมาณน้อยกว่า 10 ตัว/กอ หรือยังไม่เกิดการระบาด สามารถใช้เชื้อราบิวเวอเรียควบคุมการระบาด แต่ในกรณีเกิดการระบาด พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปริมาณ 10 ตัว/กอ หรือมากกว่า ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าวอย่างเคร่งครัด (www.ricethailand.go.th; องค์ความรู้เรื่องข้าว)

สารป้องกันกำจัดแมลงที่สามารถใช้ในการควบคุมการระบาด ให้เลือกใช้ตามอายุของข้าว  ได้แก่
    • ข้าวหลังหว่าน ถึงอายุ 40 วัน พบตัวอ่อนระยะที่ 1-2 จำนวนมากว่า 5 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ บูโพรเฟซิน 10% ดับบลิวพี อัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน/ไอโซโพรคาร์บ 5%/20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
    • ข้าวอายุ 41-60 วัน พบตัวอ่อนสีน้ำตาล และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไพมิโทซิน 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
    • ข้าวอายุ 61-80 วัน พบตัวอ่อนสีน้ำตาล และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไพรมิโทซิน 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
     ในกรณีที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรง หรือพบประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากกับดักแสงไฟในระดับที่สูงกว่าค่าวิกฤตอย่างมาก (ค่าวิกฤต 50,000 ตัวต่อวัน) สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่สามารถใช้ในการควบคุมการระบาด คือ สารไพรมิโทซิน 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่มาก) หรือสารซัลฟอกซาฟลอร์ 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่น้อย) โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง  

การคาดการณ์การระบาดของโรคไหม้ในสัปดาห์หน้า
โรคไหม้ สภาพอากาศในสัปดาห์หน้าประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางแห่ง โดยภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สภาพอากาศอาจมีความเหมาะสมกับการเกิดโรค ควรสำรวจติดตามในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อโรค เช่น ขาวดอกมะลิ 105 กข15 กข6 ปทุมธานี 1 เป็นต้น โดยเฉพาะแปลงที่ปลูกข้าวแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง
แปลงนาในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไหม้ ตามรายงานฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ที่มีค่าความเสี่ยงของอากาศในการเกิดโรคไหม้เกินระดับวิกฤต ตามสถานีเครือข่ายของกรมการข้าว ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้หรือพื้นที่ใกล้เคียง ควรมีการเฝ้าระวัง และติดตามการระบาดของโรคไหม้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่พบโรคไหม้มีอาการรุนแรง หรือพบพื้นที่ใบเสียหายจากการเป็นโรคถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ในข้าวระยะกล้า ถึงแตกกอเต็มที่ และ 5 เปอร์เซ็นต์ ในข้าวระยะตั้งท้อง หรือพบแผลโรคไหม้ที่ใบธง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าวอย่างเคร่งครัดในการควบคุมด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไตรไซคลาโซล (ควรใช้เฉพาะในระยะกล้าถึงแตกกอ) คาซูกาไมซิน ไอโซโปรไธโอเลน คาร์เบนดาซิม* โพรคลอราช* ตามอัตราที่ระบุ (*ใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะเป็นสารขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ


  • bytes